• ภาษาไทย
    • English

คุณสมบัติของวิศวกร และสถาปนิก ที่จะโยกย้ายทำงานใน ASEAN ตามคุณสมบัติ MRA

 

ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) พร้อมกับเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ โดยมีข้อตกลงที่กลุ่มสมาชิกอาเซียนยอมรับร่วมกันในเรื่องคุณสมบัติหรือมาตรฐานในแต่ละวิชาชีพ (Mutual  Recognition  Arrangement : MRA) อยู่ด้วย ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพหรือแรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษของอาเซียนได้อย่างเสรี
 

จุดประสงค์ของ MRA ของอาเซียนก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพ โดยอาเซียนตกลงกันว่าจะยอมรับคุณสมบัติเพื่ออำนวยความสะดวกในขั้นตอนการขอใบอนุญาต แต่ MRA ของอาเซียนจะยังไม่ไปถึงขั้นที่จะยอมรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งกันและกัน และจะเน้นหลักว่านักวิชาชีพต่างด้าวจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศที่ตนต้องการเข้าไปทำงาน
 

วิศวกรไทยซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในความตกลง MRA (จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 7 ปี รวมทั้งเคยได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศไทยแล้ว) สามารถไปสมัครขอขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรวิชาชีพอาเซียนได้ จากนั้นเมื่อมีรายชื่อเป็นวิศวกรวิชาชีพอาเซียนแล้ว ก็สามารถไปสมัครกับสภาวิศวกรของประเทศอาเซียนอื่น เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรต่างด้าวในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในของประเทศนั้นๆ เช่น หากมาเลเซียกำหนดว่าต้องมีใบอนุญาต และจะต้องผ่านการสอบด้วย วิศวกรไทยที่สนใจจะไปทำงานในมาเลเซียก็จะต้องไปสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตของมาเลเซีย
 

ในส่วนของ สถาปนิก จากข้อมูลล่าสุดของสภาสถาปนิก มีดังนี้
 

กฎหมายรองรับรัดกุม เพราะมีสภาสถาปนิกอาเซียนคอยรองรับ และกำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิกข้ามชาติแล้ว ข้อกำหนดที่ชัดเจนของสถาปนิกข้ามชาติ หลังการเปิด AEC นั้น ถูกกำหนดว่า ต้องมีคุณสมบัติหลายประการ ได้แก่
 

1) จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตร 5 ปี
2) มีใบอนุญาตเป็นสถาปนิก
3) มีประสบการณ์อย่างน้อย 10 ปีนับแต่จบการศึกษา
4) เมื่อจบแล้วต้องทำงานโดยมีใบอนุญาตอย่างน้อย 5 ปี
5) มีการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง (CDP)
6) ทำงานรับผิดชอบสถาปัตยกรรมสำคัญอย่างน้อย 2 ปี
7) ไม่เคยทำผิดมาตรฐานหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ
8) ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสภาสถาปนิกอาเซียน
 

เมื่อปี 2555 ไทยมีสถาปนิก 17,000 คน แบ่งตามใบอนุญาต 3 แบบ คือแบบสามัญ 1,857 คน แบบภาคี 14,159 คน และแบบวุฒิ 560 คน ขณะที่ต่างประเทศมีใบประกอบวิชาชีพเพียงแบบเดียว คือแบบสามัญ หากไทยต้องรวบเหลือใบเดียว เท่ากับว่าไทยจะเหลือสถาปนิกเพียง 1,857 คน
 

สำหรับการเตรียมความพร้อมของสาขาวิชาชีพ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศสมาชิกอาเซียน ตามข้อตกลงใน MRA มีดังต่อไปนี้
 

1. จัดทำกรอบการทำงานร่วมกันของสถาปนิกไทยกับสถาปนิกอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงของสภาสถาปนิกอาเซียน ว่าด้วยการทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันภายใต้กรอบใหญ่ของ International Union of Architects: UIA ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การปฏิบัติงานในประเทศอื่นต้องมีการร่วมมือกับเจ้าของประเทศนั้น”

2. ดำเนินการจัดให้มีระบบการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า CPD (Continuing Professional Development) โดยความสมัครใจ สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็น “สถาปนิกอาเซียน”

3. แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดการจ้างงานของคนต่างด้าวตามพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้สถาปนิกต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานในเมืองไทยได้ภายใต้เงื่อนไขของ MRA
 

ดังนั้น เป็นที่รับทราบแล้วว่า สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะมีการเปิดเสรีในอาเซียนปี 2558 เราจะมีพันธมิตรและคู่แข่งในสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม อาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงเป็นโอกาสที่นักวิชาชีพของอาเซียนสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะได้พันธมิตรวิชาชีพเดียวกันในภูมิภาค ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี รวมถึงการร่วมทุน ขณะเดียวกันทุกสาขาวิชาชีพที่ถูกกำหนดต้องปรับตัวพัฒนาวิชาชีพเชี่ยวชาญ เพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาอาเซียน รวมถึงการเข้าใจเรื่องสังคมและคนอาเซียน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้และใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างสูงสุด สุดท้ายแล้วประชาชนทุกคนคือผู้บริโภค จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นความหวังที่น่าท้าทายและเป็นจริงได้มากที่สุด.
 

รศ.ดร.นิพันธ์ วิเชียรน้อย
สาขาวิชาการผังเมือง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ.


บทความโดย  www.thai-aec.com

 

 

 

WARNING: Failed to daemonise. This is quite common and not fatal. Connection refused (111)